วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การพัฒนา “พันธุ์ข้าวต้านโรค ทนต่อสภาพแวดล้อม”

การปรับปรุงพันธุ์ข้าวนับเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการผลิตข้าว กอปรกับการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะช่วยพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้บรรลุ ตามวัตถุประสงค์ได้แม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น กรมการข้าวและ ไบโอเทค สวทช. ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้มีความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวนาน้ำฝน ระยะที่ 1 (ปีพ.ศ. 2549 – 2552) ให้มีความต้านทานต่อโรค แมลง และสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยใช้จุดเด่นด้านเทคโนโลยีทางชีวภาพเกี่ยวกับการสืบค้นหายีน และการพัฒนาโมเลกุลเครื่องหมายดีเอ็นเอ โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ สามารถพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ได้ 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมฉับพลัน สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนดินเค็ม และสายพันธุ์ กขต้านทานโรคไหม้ โดยได้ผ่านการปลูกทดสอบในศูนย์วิจัยข้าว และแปลงของเกษตรกรแล้ว มีผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอรับรองพันธุ์ข้าวทั้ง 3 สายพันธุ์จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้ผลิต ระบบการผลิต และเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ความร่วมมือวิจัยและพัฒนาข้าว เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงจัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วม มือในการวิจัยและพัฒนาด้านข้าว ระยะที่ 2 (ปีพ.ศ. 2553 – 2558) ระหว่างกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศ ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงของเครือข่ายวิจัยและพัฒนาการผลิตข้าวทั้งระบบ ช่วยเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลก และจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนต่อไป







ความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องเทคนิคการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ชาวนามีส่วนร่วม จึงเป็นงานที่มีความท้าทายต่อชาวนาทุกคนที่มีความสนใจเพราะเป้าหมายของการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวก็เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูความรู้ของชาวนา และพัฒนาความรู้ เทคนิคต่างๆในการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มาจากชาวนาเอง ให้ตอบสนองต่อระบบการผลิตของชาวนาได้อย่างเหมาะสม  สามารถลดต้นทุนการทำนา ชาวนามีทางเลือกในการพึ่งตนเองจากอาชีพการทำนา มีวีถีชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถเป็นชาวนาได้อย่างมีศักดิ์ศรี




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น